หลักการเลี้ยงปลาสวยงาม

    การเลี้ยงปลาไว้เพื่อความเพลิดเพลินนั้น มิได้ต่างไปจากหลักการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจเพื่อการบริโภคเท่าใดนัก เพียงแต่มีอัตราส่วนที่ย่อขนาดลงมา โดยอุปกรณ์การเลี้ยงหลัก ๆ ได้แก่

    • ตู้ปลา คือ กระจกหรือพลาสติกใสที่ต่อขึ้นมา เพื่อการเลี้ยงปลา โดยมากจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ก็มีรูปทรงอื่นๆวางขายในท้องตลาดเช่นกัน เช่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงกระบอก มีขนาดหลากหลาย ในตลาดปลาสวยงามของประเทศไทยมักจะวัดขนาดของตู้ปลาในหน่วยนิ้ว ซึ่งเป็นการเรียกตามหน่วยวัดของอุตสาหกรรมกระจกในสมัยก่อน โดยเรียกด้านหน้าตู้จากมุมมองของผู้เลี้ยงว่าด้านกว้าง ระยะจากด้านหน้าไปถึงด้านหลังตู้ว่าด้านลึก และระยะจากด้านล่างพื้นตู้ไปจนถึงขอบบนตู้จะเรียกว่าด้านสูง และมักจะเรียกขนาดของตู้ปลาอย่างย่อ ๆ ตามขนาดของด้านกว้างเท่านั้นเพื่อความสะดวก เช่น ตู้ปลาที่กว้าง 23 นิ้ว สูง 13 นิ้ว ลึก 12 นิ้ว ว่าตู้ 24 นิ้ว เป็นต้น และใช้หน่วยวัดความหนาของกระจกที่นำมาใช้ทำตู้ปลาเป็น หุน แต่ในปัจจุบันเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้หน่วยวัดระบบเมตริกกันมากขึ้นเพราะเป็นหน่วยวัดที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่า และตามสินค้าจากต่างประเทศเช่นประเทศญี่ปุ่นที่มักจะวัดขนาดของตู้ปลาเป็นเซนติเมตร
    • ระบบกรองน้ำ เป็นระบบบำบัดน้ำโดยการเพิ่มที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ย่อยสลายที่มีอยู่ในน้ำ ให้ปริมาณจุลินทรีย์นั้นมีมากพอที่จะบำบัดของเสียจากปลาได้เพียงพอ ทั้งนี้เพราะปลาขับถ่ายในน้ำซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย ระบบกรองน้ำมีทั้งระบบกรองใต้กรวดทรายในตู้ ระบบกรองในตู้ทั้งแบบติดกับตัวตู้และแขวนลอย และระบบกรองนอกตู้
    • ปั๊มลม หรือ แอร์ปั๊ม เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ทำงานโดยการปั๊มอากาศลงไปในน้ำผ่านหัวทราย หรือหัวปล่อยอากาศที่มีรูพรุน ให้ผุดขึ้นมาเป็นฟองเล็ก ๆ จำนวนมากเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวน้ำให้สัมผัสกับอากาศและแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้มากขึ้น ทำให้สามารถเลี้ยงปลาจำนวนมากในตู้ที่มีพื้นที่จำกัดได้ ใช้ไฟฟ้าในการทำงาน มีทั้งแบบใช้ไฟฟ้ากระแสสลับและแบตเตอรี่
    • อาหาร แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

    อาหารสด ได้แก่ อาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงใดๆหรืออาหารที่ยังมีชีวิต เช่น ไรแดง, ไรทะเล , ลูกน้ำ, กุ้งฝอย, ลูกปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลานิล, ปลาสอด รวมถึงแมลงหลายประเภท เช่น จิ้งหรีด และตัวอ่อนแมลง เช่น หนอนนก, หนอนแดง รวมถึงเนื้อสัตว์และพืชประเภทต่าง ๆ เช่น เนื้อกุ้งสดแช่แข็ง, หัวใจวัว, หัวใจหมู, ไข่กุ้ง ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ผลิตที่ผลิตอาหารสดเหล่านี้ในรูปแบบสำเร็จรูปแช่แข็งขายเพื่อความสะดวกในการใช้และยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสดของผู้เลี้ยงอาหารแห้ง เป็นอาหารสำเร็จรูปที่นำวัตถุดิบประเภทพืชและเนื้อสัตว์มาบดผสมกับวิตามินและสารปรุงแต่งต่าง ๆ จากนั้นจึงทำให้เป็นเม็ดหรือผงหยาบหรือแผ่นเกล็ดและอบแห้ง ซึ่งจะสามารถเก็บรักษาได้นานหลายเดือนหรือหลายปีโดยไม่ต้องแช่เย็น เพิ่มความสะดวกให้ผู้เลี้ยงกว่าอาหารสดมาก โดยมากจะผลิตเป็นเม็ดกลมขนาดต่างกัน เรียกว่า “อาหารเม็ด” หรือเป็นแผ่น เรียกว่า “อาหารแผ่น” ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีทั้งแบบจมน้ำ กึ่งจมกึ่งลอย และลอยน้ำ

    • อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์เสริม ใช้สำหรับควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไป ทั้งนี้เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจะทำให้ปลาเจ็บป่วยได้ง่าย อุปกรณ์เพิ่มอุณหภูมิ เรียกว่า ฮีทเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขดลวดความร้อนบรรจุในหลอดแก้วหรือท่อโลหะจุ่มลงในน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้กับน้ำในตู้ สามารถตั้งค่าอุณหภูมิที่ต้องการได้ เมื่อฮีทเตอร์ทำงานจนถึงค่าที่ตั้งไว้ก็จะตัดการทำงาน และเมื่ออุณหภูมิลดลงมาก็จะทำงานอีกครั้ง อุปกรณ์ลดอุณหภูมิเรียกว่า ชิลเลอร์ ส่วนมากจะใช้คอมเพรสเซอร์เช่นเดียวกับตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ แต่ใช้การนำน้ำในตู้ไหลผ่านส่วนทำความเย็นแทน แต่ก็มีชิลเลอร์จากผู้ผลิตหลายรายที่ใช้เพลเทียร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักเทอร์โมอิเล็กทริก ในการทำความเย็นแทนคอมเพรสเซอร์

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *